000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > TOE IN สำคัญกว่าที่คิด
วันที่ : 16/01/2016
11,303 views

TOE IN สำคัญกว่าที่คิด

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

คุณเชื่อไหมว่าเครื่องเสียงชุดเดียวกันผมสามารถ “เสก”ให้สุ้มเสียงและมิติเสียง เวทีเสียง รายละเอียด ฯลฯ ต่างกันได้แบบไม่น่าเชื่อ ระหว่างให้ 2 คนฟัง ขณะที่คุณมองด้วยตาเปล่าก็ไม่รู้สึกว่าผมได้ไปทำอไร?

       คำเฉลยก็คือ ผมแค่ขยับลำโพงให้เอียงมากน้อยต่างกัน....นิดเดียวไม่บอกไม่รู้ ทุกอย่างก็ต่างกันได้แบบหน้ามือหลังมือทีเดียว

       คุณลักษณะการกระจายเสียงของลำโพง

       ปกติที่ความถี่สูง เสียงที่มาจากดอกลำโพง(ดอกเสียงแหลมหรือดอก FULL RANGE ก็ตาม ) จะวิ่งตั้งฉากกับหน้าตู้ลำโพงโดยยิงมาเป็นลำเสียงแคบๆ ความถี่ยิ่งสูงลำยิ่งแคบ ความถี่เสียงกลาง(ออกจากดอกเสียงกลางหรือดอกกลาง/ทุ้ม)จะวิ่งตั้งฉากกับหน้าตู้ลำโพงเช่นกัน แต่มุมกระจายเสียงจะเป็นลำที่กว้างขึ้นมาก ยิ่งเสียงกลางกินลงความถี่ต่ำแค่ไหนลำกระจายเสียงยิ่งกว้างแค่นั้น แต่ยังอยู่แค่บริเวณหน้าตู้กระจายออกมา

       ที่ความถี่ต่ำ(จากดอกกลางทุ้มหรือดอกทุ้มหรือจากดอกซับวูฟเฟอร์) มุมกระจายเสียงจะกว้างที่สุด แผ่จากหน้าตู้ลำโพงอ้อมโอบไปถึงหลังลำโพงและกระจายออกมาจากตู้ลำโพงไปทุกทิศทาง 360 องศา

       จะเห็นว่า ถ้าเราวางตู้ลำโพงหันหน้าตรง ตู้ขนานกับฝาด้านหลังลำโพง เสียงสูงก็จะวิ่งตรงตั้งฉากกับหน้าตู้และฝาหลังไปทางซ้ายและขวา ลำเสียงขนานกับฝาห้องด้านข้างซ้าย,ขวา มาไม่ถึงหูเรา เสียงสูงก็จะตกวูบลงอย่างมาก ขณะที่ลำเสียงกลางก็จะวิ่งขนานกับฝาห้องซ้าย,ขวาเหมือนกัน มาไม่ถึงหู แต่อาศัยที่ลำเสียงมันบานออกพอสมควรและมากพอที่ “บางส่วน”ของขอบลำเสียงด้านนอกลำจะพอมาถึงหูได้บ้าง แต่ก็ตกลงพอควร

       ขณะที่เสียงต่ำถึงต่ำมาก กระจายออกรอบตู้ลำโพงไม่ได้เป็นลำตั้งฉาก จึงมีโอกาสมาถึงหูเราได้มากที่สุด จึงดังกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับเสียงกลางและสูง และแน่นอน สุ้มเสียงนี้ไม่ใช่สุ้มเสียงที่ผู้ออกแบบตั้งใจจะให้เป็น รวมทั้งไม่ตรงกับ “สเปค”ที่ระบุมาด้วย เนื่องจากเวลาเขาวัดสเปค เขาวัดในห้องเก็บเสียง(ANECHOIC) โดยวางตัวรับเสียง(ไมโครโฟน)ในแนวเส้นตรงตั้งฉากกับหน้าตู้ลำโพง ไม่ได้ตั้งหนีมุมยิงเสียง(ลำเสียง)อย่างการฟังที่บ้านแบบวางลำโพงหน้าตรงดังกล่าว

       การวางไมโครโฟน หน้าตรงตั้งฉากดังกล่าว เสียงทุกความถี่จะมาถึงไมโครโฟนได้อย่างครบถ้วนที่สุด จะเห็นว่า ถ้าต้องการให้ได้เสียงครบอย่างที่เขาวัดสเปคในห้องทดสอบเสียง ก็ต้องวางตู้ลำโพงที่บ้านโดยเอียงลำโพงเข้า(TOE IN ) ให้ได้แนวเส้นตรงที่ตั้งฉากกับหน้าตู้ลำโพงนั้นวิ่งตรงมาเข้าหูซ้าย(จากลำโพงตู้ซ้าย)มาเข้าหูขวา(จากลำโพงตู้ขวา) อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์การฟังจริงพบว่า การให้แนวตั้งฉากเสียงทั้งสองมาตัดกันที่หน้าเราห่างออกไปสัก 1 เมตรจะได้เวทีเสียง,มิติเสียง,สุ้มเสียงที่มักลงตัวดีที่สุด

       จริงๆแล้วมักพบว่า ระยะทางจากตู้ลำโพงซ้ายมาถึงตัวเรา ต้องเท่ากับจากตู้ลำโพงขวามาถึงตัวเรา และเท่ากับระยะห่างระหว่างตู้ลำโพงซ้ายและขวา (เกิดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า) จะลงตัวดีที่สุด

       อย่างไรก็ตาม หลังจากเราให้ตู้ลำโพงด้านหนึ่งนิ่งอยู่กับที่ในมุมเอียง (TOE IN )อันหนึ่งแล้ว (สมมุติตู้ขวา) ต้องลองค่อยๆขยับตู้ซ้ายทีละนิด อาจเริ่มที่ขยับเอียงเข้ามาอีกนิด (นิดเดียวจริงๆ อาจแค่ 1 องศาที่ตำแหน่งตู้ลำโพง หรือประมาณระยะขยับสัก 1 ม.ม.) แล้ววิ่งไปนั่งฟังดูว่าเป็นอย่างไร

       เราต้องฟังอะไรบ้าง

       สุ้มเสียงครบขึ้นไหม กระจ่างขึ้น(CLEAR,TRANSPARENT)หรือคลุมเคลือขึ้น ปกติถ้าขยับเอียงเข้า มามากขึ้นทรวดทรงมิติเสียงจะดีขึ้น (เป็น 3 D ขึ้น มีรูปลัษณ์มากขึ้น) แต่มักพบว่าความโปร่งกระจ่างลดลง เสียงคลุมเคลือขึ้น ถ้าคลุมเครือขึ้นให้เอียงคืนกลับที่เดิม แล้วลองขยับหันหน้าออกมากขึ้น ถ้ากระจ่างชัดขึ้น ทุ้ม,กลาง,แหลมดุเหมือนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นแสดงว่าเรามาถูกทาง ทรวดทรงชิ้นดนตรี นักร้องอาจฟุ้งขึ้นบ้างก็ต้องยอม ถ้าเน้นสุ้มเสียง รายละเอียดมากกว่ามิติเสียง แต่ก็ไม่หมายความว่ามันฟุ้งสับสนกระจายหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อยู่ตรงไหน อย่างนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ต้องถอยคืนการขยับเอามิติทรวดทรงไว้บ้าง (การจะขยับให้ได้ที่ บางครั้งต้องวิ่งเข้า-ออกขยับเป็นสิบเที่ยว!)

      มีข้อสังเกตคือ ถ้าขยับเข้า-ออกอย่างไรก็ไม่ลงตัวเสียทีไม่ว่าสุ้มเสียงและมิติเสียง มันเหมือนจับปูใส่กระด้งตลอดเวลา แสดงว่าลำโพงคู่นั้นมีปัญหาภายในได้แก่

  1. สายลำโพงภายในตู้เดินหัวท้ายผิดทิศ (อย่ายึดการสกรีนลูกศรหรือยี่ห้อสายเป็นหลัก) บางทีผิดหมดทุกเส้น บางทีเส้นหนึ่งถูก เส้นหนึ่งผิด ตู้สายกับซ้ายกับขวาก็ไม่เหมือนกัน
  2. สายลำโพงจากขั้วหลังตู้มาแผงวงจรแบ่งเสียง และจากแผงวงจรแบ่งเสียงไปดอกลำโพงแต่ละตัว มีการมัดรวมกันและแตะต้องกัน ต้องจัดการแยกให้ห่างจากกัน รวมทั้งห่างและไม่แตะกับตูดแม่เหล็กดอกลำโพง ไม่แตะกับขดลวดบนแผงวงจร
  3. ขั้วตัวยู ที่ปลายสายลำโพงในตู้ที่ไว้เสียบกับดอกลำโพงหรือแผงวงจรหรือขั้วหลังตู้ลำโพง เสียบตัวยูไม่ถูกทิศหันเขี้ยวสปริงเข้า-ออกไม่ถูกและตู้ซ้าย,ขวาเสียบตัวยูไม่เหมือนกัน จริงๆแล้วควรบัดกรีเลย ไม่ควรใช้ตัวยู(เวลาบัดกรีต้องระวัง มีฝีมือ อย่าแช่นาน วอยส์คอยล์ดอกลำโพงอาจเสียหายได้ ต้องทำเป็น)
  4. อุปกรณ์ชิ้นส่วนบนแผงวงจรแบ่งเสียงของตู้ซ้าย,ขวา เรียงมาไม่เหมือนกันหรือเรียงเหมือนกันแต่ผิดทิศ(แม้จะเป็นแบบไร้ขั้วก็ตาม)
  5. ดอกลำโพงเสียงแหลมอยู่ห่างจากลำโพงเสียงกลาง/ทุ้มมากเกินไป

       หมายเหตุ กรณีที่ดอกเสียงแหลมของตู้ซ้ายกับตู้ขวา อยู่คนละมุมตู้ลำโพงให้สลับตู้ซ้าย,ขวา ให้ดอกแหลมอยู่ด้านใน

       ข้อเสียของการวางตู้ลำโพงหน้าตรง

  1. ความถี่ตอบสนองผิดเพี้ยนหมด
  2. การตอบสนองหรือความฉับพลันเสีย
  3. รายละเอียดหยุมหยิมหายหมด เสียงคลุมเครือขึ้น
  4. ทรวดทรงชิ้นดนตรีไม่มี ออกแบนติดจอ ฟุ้งไปหมดโดยเฉพาะตั้งแต่เสียงกลางต่ำขึ้นไปถึงสูง สเกล(ขนาด)ของชิ้นดนตรีเสียหมด
  5. เวทีเสียงแตกกระจายเป็นซ้ายกลุ่มหนึ่ง ขวากลุ่มหนึ่ง ไม่มีลำดับชั้นตื้น,ลึก สูง,ต่ำไม่มี
  6. กระตุ้นการก้องของห้องมากขึ้น ลดความสงัดและรายละเอียดค่อยๆอีกทั้งทำให้การสวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดผิดเพี้ยนไปหมด

       หมายเหตุ เป็นเรื่องเข้าใจผิดหรือความคิดประหลาดมากที่บอกว่า การตั้งลำโพงหน้าตรงทำให้เวทีเสียงกว้าง นั่งตรงไหนก็ได้ยินเสียงใกล้เคียงกัน(คือมั่วสับสนเหมือนกันไปหมดพูดง่ายๆว่า เลวเหมือนกันหมด มันก็แปลกดีนะ พยายามทำให้เสียงเลว)

       มีความพยายามแก้เสียงจัด ปลายแหลมจัด สาก หยาบ สะบัดปลาย โดยการตั้งลำโพงหน้าตรงเพี่อหันแหลมหนีหู เท่ากับพยายามเอาความพิการ(ผิด)ไปแก้ความพิการ(ผิด)อีกรูปแบบหนึ่ง ผลมันก็ต้องพิการอยู่ดี ไม่รู้คิดโง่ๆอย่างนี้ได้อย่างไร

       บ้างก็ว่า ถ้าหันเอียงเสียงมันจะสมจริง,จริงจังมากไป ฟังแล้วเหนื่อย ไม่ผ่อนคลาย นี่ก็เช่นกันพยายามเอาความพิการแก้ความพิการ เสียงที่ไม่ผ่อนคลายมันมาจากสาเหตุอื่นเช่น การออกแบบวงจรแบ่งเสียงที่ไม่ลงตัว ปัญหาความผิดพลาดในตู้ลำโพง(ดังกล่าวแล้ว)ซึ่งเป็นเรื่องทางไฟฟ้า คนละกายภาพกับการหันลำโพงหน้าตรงที่พยายามเอากายภาพทางอคูสติกไปแก้ มันคนละมิติกันเลย แค่คิดก็ผิดแล้ว

       เป็นเรื่องหน้าเศร้าที่นักวิจารณ์(ไม่ว่าไทย,เทศ)หรือแม้แต่คนขายหรือผู้นำเข้าเกือบทั้งหมดยังหลงผิดตั้งลำโพงหน้าตรงหรืออาจตั้งหน้าเอียงบ้างแต่ไม่ได้พิถีพิถันสุดๆเนื่องจากความเข้าใจผิดๆหรือมองข้ามความสำคัญไป ทำให้การฟังทดสอบ(รับรู้)อุปกรณ์อื่นๆผิดพลาดไป ถึงขนาดบางท่านว่าอุปกรณ์แบบเดียวกันนั้น(เช่นสาย,แอมป์,สายไฟ,ฟิวส์,ฯลฯ)ไหนๆมันก็เสียงไม่ต่างกัน

       จริงๆแล้วการเอียงตู้ลำโพงมีผลมาก มากกว่าที่ใครจะคาดคิด มันสามารถทำให้คุณภาพเสียง(ทุกแง่มุม)ต่างกันได้แบบหนังคนละม้วนได้เลย ปัญหาคือ ผู้ขยับจูนเสียงฟังเป็นแค่ไหน ที่จริงสิ่งนี้เป็นตัววัดอย่างดีว่า แต่ละคน(ที่มาจูน)ฟังได้เก่งขนาดไหน เก่งจริงหรือราคาคุย เพราะขณะจูน(หัน)จะต้องคำนึงบาลานท์ผลที่ได้ทุกแง่มุมไปพร้อมๆกัน ได้อย่างนี้เสียอย่างโน้น ได้อย่างโน้นเสียอย่างนั้น ต้องชั่งใจถูกว่าอันไหนสำคัญกว่าอันไหน พูดง่ายๆว่าต้องหูเซียนจริงๆ

       สำหรับชาวบ้านทั่วไปหูอาจไม่เซียนเหยียบเมฆ ก็ใช้เวลาค่อยๆจูนไป วันละนิด วันละหน่อย เหนื่อยล้าก็หยุด อย่าท้อถอย ถึงเป็นวันๆเป็นอาทิตย์ก็ต้องพยายาม เชื่อเถิดว่าผลที่ได้มันคุ้มสุดคุ้ม คุณอาจไม่ต้องเปลี่ยนลำโพงใหม่,แอมป์ใหม่,หรือต้องบุห้องมากขึ้น คุณจะพบว่าจริงๆแล้วของเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องเสียเงินมากมายอีก ผู้เขียนขอยืนยันได้จากการทดสอบลำโพงเป็นร้อยคู่ตลอด 40 ปีที่เริ่มเล่นเครื่องเสียงมา

       อย่างไรก็ตาม การขยับตู้ลำโพงก็เหมือนการจูนเสียงในส่วนอื่นๆของชุดเครื่องเสียง ก่อนอื่นคุณต้อง “จัดการ”ให้ส่วนอื่นๆในระบบถูกต้องดีที่สุดไว้ก่อนไม่ว่าเรื่องทิศทางสายต่างๆ ,ทิศทางเส้นฟิวส์เครื่อง, ทิศทางขาปลั๊กไฟAC ,การไม่ให้สายต่างๆแตะต้องกัน(กรณีไบไวร์) พูดง่ายๆว่า ห้ามใช้สายลำโพงไบไวร์สำเร็จจากโรงงาน(หรือที่อยู่ในปลอกเดียวกัน),ทิศทางสายไฟAC ที่มาห้องเสียง,การไม่วางเครื่องทับซ้อนกัน,ไม่วางเครื่องบนพื้นห้อง(พรม/ใต้พรมเป็นปูน/ใต้ปูนมีเหล็กเส้น),การต้องเอาหน้ากากลำโพงออก,การไม่ให้สายทุกเส้นแตะต้องกันหรือม้วนทับพันตัวเอง,การไม่มีPC(คอมพ์)ในห้อง,การวางจอ LCD(PLASMA)หนีห่างเครื่องเสียง,ห้องที่ไม่ก้องจนเกินไป,การไม่สูดยาดม/ทายามีกลิ่นขณะฟังเพลง (มีผลต่อการฟัง) ฯลฯ เป็นต้น

       มิเช่นนั้นมันจะเป็นสาเหตุอื่นๆสารพัดไม่ใช่เรื่องของการขยับเอียงตู้ลำโพงอย่างเดียว

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459